ประวัติความเป็นมา
- admin
- จำนวนผู้เข้าชม : 3,608
ประวัติความเป็นมาของอำเภอกาบัง
คำว่า “กาบัง” หรือ “กาแบ” เป็นภาษามลายูพื้นเมืองของปักษ์ใต้เป็นคำเรียกพันธุ์ป่าไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้ตระกูลเดียวกับเงาะ ลำต้น กิ่ง ก้านใบและดอกผล มีลักษณะเหมือนเงาะ มีผลลักษณะกลม โตกลม ว่าเงาะบ้าน ขนเกรียนดูเพียงขรุขระเท่านั้น ไม่เป็นเส้นยาวๆ เหมือนขนเงาะ (และมีประวัติมาจากคำว่า ฆามแบ แปลว่า ต้นสีเสียด) สาเหตุที่เรียกว่า อำเภอกาบัง เพราะในอดีตมีต้นกาบัง ขึ้นอยู่ในหมู่บ้านกาบัง ต้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร อยู่ริมทางเส้นทางจากบ้านยือนัง – บาละ ซึ่งเส้นทางนี้ในอดีตใช้สัญจรในการเดินทางไปอำเภอยะหา
อำเภอกาบัง ได้รับการจัดตั้งโดยแยกพื้นที่การปกครอง ๒ ตำบลของ อำเภอยะหาคือ ตำบลกาบังและตำบลบาละ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องแบ่งเขตท้องที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอกาบัง วันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งอำเภอซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา ตอนที่ ๕๐ ก วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๐ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗
คำขวัญอำเภอกาบัง
แหล่งต้นน้ำใหญ่ ชื่นใจธรรมชาติ ไม้กวาดดอกหญ้า จำปาดะพันธุ์ดี
ที่ตั้งและขนาดอำเภอกาบัง
อำเภอกาบังตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกสุดของจังหวัดยะลา บริเวณหมู่บ้านลาแล หมู่ที่ ๕ ตำบลกาบัง อยู่ห่างจากจังหวัดยะลาประมาณ ๔๐ กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๔๑๐๖ –๔๐๙ –๔๐๖๕ – ๔๐๗๐ (เส้นทางถนนสายยะลา-บ้านเนียง-ยะหา-บ้านบันนังดามา-บ้านลาแล) อำเภอกาบังมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๕๑ ตารางกิโลเมตร
ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน
การตั้งถิ่นฐานของราษฎรอำเภอกาบัง ส่วนใหญ่มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานแบบรวมกลุ่มในบริเวณสถานที่สำคัญๆที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน เช่น ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน วัด มัสยิด หรือสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ชุมชนในพื้นที่บ้านบันนังดามาบ้านบาละ และมีลักษณะการตั้งถิ่นฐานแบบกระจายในบริเวณที่เป็นป่าเขา ลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว หรือกลุ่มบ้านสองสามหลัง ตั้งกระจายห่างไกลจากเพื่อนบ้าน ในบริเวณที่มีการทำสวนยางพารา และเกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่โดยทั่วไปของอำเภอกาบัง เป็นป่าเนินเขาสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนมากมาย มีที่ราบเพียงส่วนน้อยอยู่บริเวณตอนเหนือ ส่วนทางทิศใต้มีลักษณะเป็นภูเขาสูงเป็นพื้นที่ลักษณะป่าดิบชื้นตามแนวชายแดนไทย –มาเลเซีย มีลำคลองและลำธารไหลผ่านหลายสาย
สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศของอำเภอกาบัง มี ๒ ฤดูกาล คือ ฤดูฝน และฤดูร้อนส่วนใหญ่มีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี มีฝนตกมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๘.๑ องศาเซลเซียส
อาณาเขตติดต่อ
อำเภอกาบังมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอ และจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
ติดต่อกับ ตำบลกาตอง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
ติดต่อกับ รัฐเคดาร์ประเทศมาเลเซีย
ติดต่อกับ ตำบลบาโร๊ะ, ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
ติดต่อกับ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา